Why Us?

ทำไมต้องเลือกเรียนกับเรา?

 

 

 

 

เศรษฐศาสตร์

เรียนเกี่ยวกับอะไร?

 

เศรษฐศาสตร์เป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยตรรกะเหตุผล, เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และสถิติมาอธิบายกับพฤิตกรรมของคน การเรียนเศรษฐศาสตร์จึงเป็นส่วนผสมของการคำนวณและการใช้ตรรกะเหตุผล เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของคนในสังคม และวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

นักเศรษฐศาสตร์มักใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดประเด็นปัญหาที่ชัดเจน สร้างสมมติฐาน หาข้อมูล วิเคราะห์ความเชื่อมโยงความเป็นเหตุและผลของปัจจัยต่างๆ แล้วอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหา รวมถึงคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากแต่ละทางเลือก

ตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมา แม้ว่าผลดีจากการที่แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกวันละกว่า 100 บาทหรือเดือนละ 2,500 บาท ซึ่งมีผลให้คุณภาพชีวิตของแรงงานที่ยังถูกจ้างงานอยู่ดีขึ้น และยังเป็นผลทำให้ระบบเศรษฐกิจมีกำลังซื้อสูงขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์จะอธิบายมุมมองอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้คิดเห็นได้รอบด้าน เพราะในระยะสั้น การขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับสถานประกอบการโดยเฉพาะ SME ที่ไม่มีการใช้เครื่องจักรกลในการทำธุรกิจมากนัก และต้องใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก ทำให้ต้นทุนการการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น หรือลดการจ้างงานลงบางส่วน และในระยะยาวเมื่อหน่วยธุรกิจสามารถปรับตัวได้ก็อาจจะใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น ซึ่งหากแรงงานไม่พัฒนาฝีมือ ทักษะให้เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดการว่างงานขึ้นได้

จะเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์จะใช้กลไกการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล เพื่ออธิบายผลของการตัดสินใจในแต่ละทางเลือก เพื่อวิเคระห์หาการตัดสินใจที่ดีที่สุด รวมไปถึงสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อพยากรณ์ข้อมูลหรือเหตุการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจดังกล่าว 

ในกระบวนการเรียนเศรษฐศาสตร์นั้น ในช่วงปีที่ 1 – 2 จะเป็นการเรียนพื้นฐานของการวิเคราะห์ ส่วนรายวิชาเลือกในชั้นปีที่สูงขึ้นไปนั้น จะเน้นการประยุกต์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐานไปใช้ในแวดวงต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การเงิน การลงทุน เกษตร การขนส่ง ธุรกิจ พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม พลังงาน เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจริง เพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ต่างๆ

ทักษะการคิดวิเคราะห์ ด้วยตรรกเหตุผล และทักษะการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์เป็นที่ต้องการทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ และนำเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย ในภาคธุรกิจะมักจะมีนักเศรษฐศาสตร์ทำงานในด้านกลยุทธ์องค์กร, การวางแผนการตลาด, การวางแผนการผลิต, Logistics, งานฝ่ายบุคคลและทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งในภาคธนาคารและบริษัทด้านการเงินนักเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทอย่างสูงในการเป็นนักวิเคราะห์ เช่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และนักวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล เป็นต้น 

เครื่องมือสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการทำงานนอกเหนือจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และตรรกะเหตุผล คือโปรแกรมที่ใช้ในการจัดการข้อมูล คำนวณ/วิเคราะห์ และนำเสนอผลการวิเคราะห์ เช่น  Microsoft Excel, Power BI, SPSS, STATA รวมไปถึงโปรแกรม Open-source ที่กำลังมาแรงและมีความสามารถที่หลากหลายอย่างเช่น R และ Python เป็นต้น โดยหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิตจะสอนและฝึกฝนให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ทั้งหมด

นิสิตเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?

ปีแรกของนิสิต จะเรียนพื้นฐานความรู้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ในการวิเคราะห์ความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค โดยจุลภาคเป็นการวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจ ของคนที่ดำรงชีวิตอยู่อาจจะเป็นครอบครัวหรือเป็นคนๆ เดียวก็ได้ ส่วนมหภาคนั้นจะเป็นการทำความเข้าใจและวิเคราะห์การทำงานโดยภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์ หลายคนมักจะคิดถึงตัวเลข กราฟ และการวิเคราะห์ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ชอบ แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนและมีการปรับวิธีคิด และใช้คณิตศาสตร์ช่วยในการวิเคราะห์แล้ว หลายคนมักจะชอบและหลงไหลการคิดแบบเชิงเหตุและผลแบบนักเศรษฐศาสตร์

ในหลายประเทศน้ัน จะแนะนำให้ผู้เรียนเลือกเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานก่อนที่จะไปเรียนด้านอื่น อาทิ บริหารธุรกิจ การตลาด รัฐศาสตร์ พัฒนาสังคม บัญชี ซึ่งเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น สภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันของธุรกิจ การจัดการความต้องการของคน การขจัดความยากจน เป็นต้น ทำให้ผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์และมีความสามารถในการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง และสามารถประยุกต์ใช้ในอาชีพที่ตนเองสนใจในภายหลังได้

การเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในช่วงชั้นปีที่ 2 จะเน้นเรียนรายวิชาเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล อาทิ วิชาสถิติสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ รวมถึงวิชาเศรษฐมิติที่เรียนการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกลุ่มตัวแปรที่เราสนใจ อาทิ หากเราสนใจว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้จะดีขึ้นหรือไม่ เราจะต้องวิเคราะห์ให้เห็นก่อนว่าคนจะซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นเพราะปัจจัยอะไรบ้าง อาทิ รายได้ครัวเรือน ราคารถยนต์ ราคาการเดินทางทางเลือกอื่นๆ รสนิยมผู้บริโภค รวมถึงจำนวนประชากร เป็นต้น วิชาเศรษฐมิติจะทำให้ผู้เรียนสามารถตอบคำถามข้างต้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลของตัวแปรดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ได้เป็นอย่างดี

ในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 จะเป็นการตอกย้ำการนำเอาทฤษฎี และการวิเคราะห์ข้อมูล เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยรายวิชาเลือกเอกที่ทางหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ได้ดำเนินการจัดไว้ให้ ทั้งวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ภาครัฐ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐศาสตร์การเงิน และวิชาเกี่ยวการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการเขียนโค้ดด้วยภาษา R และ Python ซึ่งนิสิตจะสามารถเลือกเรียนในด้านที่สนใจและพัฒนาตัวเองผ่านการเรียนในรายวิชาเหล่านี้

ในชั้นปีที่ 4 นิสิตจะได้ทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการวิเคราะห์ปัญหา การหาข้อมูล การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ และการหาทางแก้ไขปัญหา ด้วยความรู้ ทักษะ และความสามารถที่พัฒนาตนเองมาตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นิสิตสามารถดึงศักยภาพของตนเองมาอธิบายในประเด็นที่สนใจอย่างรอบด้าน

ก่อนจบการศึกษา ทางหลักสูตรเศรษฐศาสตร์จะจัดการฝึกงานและสหกิจศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้นิสิตได้นำความรู้ที่มีอยู่ เข้าไปทำงานในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม การรับฟังและทำงานร่วมกับผู้ที่อาวุโสกว่าในตำแหน่งงานต่างๆ ที่ทำงานจริง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า นิสิตจะจบการศึกษาและสามารถทำงานได้จริง และมีคุณภาพอย่างเพียงพอตามปริญญา เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร