รูปแบบการเรียนการสอน (Teaching Method)
เมื่อน้องๆ เข้ามาเป็นนิสิต สมาชิกในครอบครัวเศรษฐศาสตร์ นเรศวร จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ และการดูแลจากคณาจารย์ ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการเรียนการสอน รุ่นพี่จะมีการจัดกลุ่ม แฟม หรือ Family ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ต่อเนื่องจากรุ่น 1 ถึงรุ่นปัจจุบัน แนะนำการใช้ชีวิตช่วยให้น้องๆ ในขณะเดียวกันทีมอาจารย์ที่ปรึกษา จะเข้ามามีบทบาทในการติดตามผลการเรียน การใช้ชีวิตของนิสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเรียนที่จะช่วยให้นิสิตสามารถพัฒนาตนเอง ทั้งความรู้ ทักษะ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การเรียนการสอนของหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ จะมีการดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและรุ่นพี่เศรษฐศาสตร์ซึ่งประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ รวมถึงผู้ที่เป็นมืออาชีพที่อยู่ในสายงานและธุรกิจเหล่านั้น โดยมีหลักการจัดการเรียนการสอนดังนี้
- ในการเรียนรายวิชาตามหลักสูตรในห้องเรียน จะมีการผสมผสาน รูปแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาตนเองของนิสิตให้มีความรู้และทักษะตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร (Expected Learning Outcome, ELO) ประกอบไปด้วยการเรียนกับคณาจารย์ในห้องเรียน การถกประเด็นแสดงความคิดเห็น กิจกรรมกรณีศึกษา การทำงานกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน การวัดผลที่มีมาตรฐานและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้
- การทำวิทยานิพนธ์ การฝึกงานสหกิจศึกษา การอบรม ดูงานในสถานประกอบการ เป็นกระบวนการพัฒนานิสิตด้วยการผสมผสานความรู้และทักษะ เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่การทำงานจริงของนิสิต โดยหลักสูตรเศรษฐศาสตร์จะสนับสนุนนิสิตให้คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกการแก้ไขปัญหา ซึ่งในท้ายที่สุดจะสามารถเลือกสายงานอาชีพที่สนใจ
รูปแบบการเรียนในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ มีดังนี้
- 1.การเรียนการสอนในห้องเรียน (Lecture)
- 2. การแสดงความคิดเห็นประเด็นทางเศรษฐกิจ (Discussion)
- 3.การวิเคราะห์กรณีศึกษา
- 4.การทำงานกลุ่ม
- 5.วิทยานิพนธ์
- 6.การฝึกงานสหกิจศึกษา
- 7.การอบรม
- 8.การดูงานในสถานประกอบการ
การเรียนในห้องเรียนนั้นยังคงเป็นกิจกรรมหลักสำหรับการเรียนในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ โดยมีกระบวนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนจากเดิมซึ่งอาศัยคณาจารย์เป็นหลัก พลิกกระบวนการเรียนรู้ให้คณาจารย์เป็นผู้ชี้แนะทฤษฎี และนิสิตเป็นผู้เติมเต็มความรู้ ผ่านการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการประยุกต์ใช้ รวมถึงการใช้กรณีศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างกระบวนการคิด การวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ดังนั้นบรรยากาศภายในห้องเรียน จึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของนิสิต เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมุ่งเน้นให้นิสิตสร้างกระบวนการคิดการวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ภายใต้กรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นการนำเอาประเด็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทย และเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเด็นทางธุรกิจที่เกิดขึ้น มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำความเข้าใจทฤษฎี แผนการแสดงความคิดเห็น ทั้งในรูปแบบของกลุ่มการเรียนรู้ และในรูปแบบของการถกประเด็นแสดงความคิดเห็นทางเศรษฐกิจของนิสิตแต่ละคน โดยมีคณาจารย์เป็นผู้กระตุ้นและช่วยตอบโต้แย้งเพื่อให้นิสิตสามารถวิเคราะห์มิติอื่น ของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้รอบด้านยิ่งขึ้น
การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิสิตมีโอกาสพัฒนาความเข้าใจของตนเอง ผ่านกรณีศึกษาซึ่งเป็นเรื่องราวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะมีทั้งโอกาส และเงื่อนไขซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญ ให้นิสิตใช้กระบวนการคิด การวิเคราะห์ นำเสนอความเห็นอ่านเรื่องราวซึ่งอยู่ในกรณีศึกษา ช่วยให้นิสิตต่อยอดความคิด นอกเหนือจากกรอบทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ผ่านไปแล้ว รวมถึงได้เข้าใจเงื่อนไขในกระบวนการตัดสินใจตามกรณีศึกษา
การฝึกฝนทำงานร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะการทํางานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งบ่อยครั้งจะมีความเห็นและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้นิสิตฝึกฝนตนเองยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล เกิดกระบวนการพัฒนาการสื่อสารระหว่างบุคคล การสร้างกลไกภายในกลุ่มเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จ ตรงต่อเวลากำหนดส่งงาน ภายใต้คุณภาพงานที่ดีที่สุด ซึ่งมีผลตอนนี้สิเมื่อจบการศึกษาเข้าสู่การทำงานในโลกของความเป็นจริง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งเพื่อนร่วมงาน พนักงานในบริษัท คู่ค้า และลูกค้า
วิทยานิพนธ์เป็นกระบวนการฝึกฝนการรวบรวมความรู้ทั้งหมด ที่ได้เรียนมา ในการดำเนินกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา การประยุกต์ใช้ทฤษฎี การรวบรวมข้อมูล การใช้เครื่องมือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูล การนำเอาผลที่ได้รับมาทำการวิเคราะห์ การสรุปผล การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งกระบวนการทำวิทยานิพนธ์นี้ จะส่งผลให้นิสิตเศรษฐศาสตร์สามารถใช้ทุกทักษะ ความรู้ การประยุกต์ใช้ มาสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานวิทยานิพนธ์ ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปีสุดท้ายของการเรียน โดยมีคณาจารย์ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นิสิตสามารถในการเชื่อมโยงความรู้ การแก้ไขปัญหา และทฤษฎีไว้ด้วยกัน
การฝึกงานสหกิจศึกษาเป็นกระบวนการที่นิสิตเตรียมพร้อมจะเข้าสู่สภาพแวดล้อมของการทำงานจริง ซึ่งนิสิตจะเลือกเข้าไปฝึกงานสหกิจศึกษากับหน่วยราชการ ภาคเอกชน บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงการไปฝึกงานสหกิจศึกษาณต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตมีโอกาสในการใช้ความรู้ความสามารถ ในการปฏิบัติงานจริงรวมกับ พี่เลี้ยง (Mentor) ซึ่งจะเป็นการปรับจูน ความรู้ความสามารถของนิสิต ทักษะการปฏิบัติงาน ทักษะคอมพิวเตอร์และภาษา รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสถานประกอบการจริง
- นิสิตจะได้รับการฝึกอบรมทางด้านใบประกอบอาชีพ อาทิ ใบประกอบวิชาชีพผู้ติดต่อผู้ลงทุน ซึ่งเป็นใบประกอบวิชาชีพสำหรับคนที่สนใจทำงานทางด้านตลาดทุน และสถาบันการเงิน โดยภาควิชาเศรษฐศาสตร์จะมีการจัดอบรมให้กับนิสิตในทุกๆปี เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถสอบใบอนุญาตทางด้านวิชาชีพเหล่านี้ เพื่อเป็นการเบิกทางสำหรับโอกาสในการทำงานในอนาคต
- การฝึกอบรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Microsoft Excel ในระดับขั้นกลาง จะช่วยให้นิสิตสามารถใช้กระบวนการจัดการข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Excel เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาวิทยาการข้อมูล หรือ Data science รวมทั้งวิชาเศรษฐมิติ ซึ่งใช้ความรู้ทางสถิติและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป
- นิสิตจะได้รับการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมสอบ TOEIC ด้วยการฝึกอบรมนี้จะมุ่งเน้นให้นิสิตสามารถใช้ทักษะทางด้าน ฟัง พูด อ่าน และไวยากร เพื่อเตรียมพร้อมนิสิตในการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ TOEIC เพื่อใช้ประกอบการไปฝึกงาน และการทำงานในอนาคต
นิสิตจะได้รับโอกาสในการไปดูงานตามสถานประกอบการจริง เพื่อนำเอาความเข้าใจทางด้านการผลิต การตลาด การวางแผนบุคลากร ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้นิสิตสามารถเข้าใจบทเรียน ทฤษฎี และมองเห็นภาพการผลิตจริงได้เพิ่มขึ้น